เกี่ยวกับเรา

 

2545  
จัดตั้งกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา
 
กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา จัดตั้งขึ้นตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2545 โดยมีชื่อในขณะนั้นว่า “กองคุ้มครองและอนุรักษ์พันธุ์พืช” มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
        1. บริหารจัดการเพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์ รักษาพันธุ์พืชและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อนุรักษ์และการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของพันธุ์พืช
        2. ศึกษา วิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืช และความหลากหลายทางพันธุ์พืชในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
 
2547  
เปลี่ยนชื่อและเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่
 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการแบ่งส่วนราชการในสังกัดอีกครั้ง ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2547 โดยเปลี่ยนชื่อจาก "กองคุ้มครองและอนุรักษ์พันธุ์พืช" เป็น “กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (กคส.)” จนถึงปัจจุบัน โดยมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติม ดังนี้
        1. อนุรักษ์ รักษา และขยายพันธุ์พืชป่าที่หายากและใกล้สูญพันธ์ุของประเทศไทยให้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง
        2. ควบคุมและตรวจสอบการส่งออก นำเข้า หรือนำส่งต่อเพื่อการค้าซึ่งชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ระบุไว้ในบัญชี หมายเลข 1 หมายเลข 2 และหมายเลข 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ุ (CITES)
        3. ประชุมเจรจาระหว่างประเทศและประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
 

 

2556  
ปรับปรุงโครงสร้างภายใน
 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการปรับปรุงโครงสร้างเป็นการภายในตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 2177/2556 ลงวันที่ 17 พตุลาคม พ.ศ. 2556 ทำให้ กคส. มีหน่วยงานในสังกัดจำนวน 1 ฝ่าย 5 กลุ่มงาน ดังนี้
        1. ฝ่ายบริหารทั่วไป
        2. กลุ่มงานควบคุมและตรวจสอบการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ
        3. กลุ่มงานวิชาการด้านพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา
        4. กลุ่มงานประสานงานและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
        5. กลุ่มงานด่านตรวจสัตว์ป่า
        6. กลุ่มงานวิจัยพันธุ์พืชป่ามีค่า หายาก และใกล้สูญพันธุ์